การเลี้ยงดูทดแทนคืออะไร

การเลี้ยงดูทดแทน คือ การเลี้ยงดูเด็กข้ามคืน โดยผู้ดูแล ที่ไม่ใช่พ่อแม่โดยสายเลือด ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่ว่าเป็นการชั่วคราว หรือ ถาวร

 

เหตุใดปัจจุบันการเลี้ยงดูทดแทนที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย

การเลี้ยงดูทดแทนมีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากรายงานการศึกษาวิจัยแสดงว่า ประเทศไทยมีเด็กจำนวนมากที่อยู่ในการเลี้ยงดูทดแทน และหลายกรณีการเลี้ยงดูเด็กนั้น มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานสากล

ครอบครัวเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของสังคม ความรักและความเอาใจใส่ที่มีให้แก่กัน ระหว่างเด็กและพ่อแม่นั้นเป็นรากฐานของชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเอาใจใส่ หากเราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องจริง เราต้องมุ่งมั่นให้การสนับสนุนครอบครัวให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และรับมือปัญหาความยากจนที่ทำให้เด็กจำนวนมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องแยกออกจากพ่อแม่

เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในภูมิภาค และเป็นต้นแบบของการปฏิรูปการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก เว็ปไซต์การเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทยเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย หากเราร่วมมือกัน ก็จะช่วยให้เด้กๆยังคงได้อยู่กับครอบครัว และจัดหาครอบครัวที่อบอุ่น ให้แก่เด็กๆที่พ่อแม่เสียชีวิต หรือที่ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้

ทางเลือกด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กในประเทศไทย

ครอบครัวเครือญาติ

ครอบครัวเครือญาติ คือ การที่สมาชิกในครอบครัวขยาย รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กคล้ายญาติผู้ใหญ่ เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเด็ก ครอบครัวเครือญาติสามารถเป็นได้ทั้งการเลี้ยงดูแบบเป็นทางการ (มีการจดทะเบียนรองรับตามกฎหมาย) หรือแบบไม่เป็นทางการ โดยครอบครัวเครือญาติที่อุปการะเด็กเป็นทางการในประเทศไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือนจากภาครัฐ

ครอบครัวเครือญาติที่ให้การอุปการะเด็กแบบไม่เป็นทางการนั้นมีจำนวนเท่าใดยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ากว่าร้อยละ 24 ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมิได้พักอาศัยกับพ่อหรือแม่ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเดินทางอพยพภายในประเทศ

ครอบครัวอุปถัมภ์

อบครัวอุปถัมภ์ หมายถึง การดำเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลจากครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติหรือบุคคลอื่นที่เด็กไม่รู้จัก หรือไม่เคยมีความสัมพันธ์ด้วย ทั้งนี้ ครอบครัวอุปถัมภ์นี้อาจเลี้ยงดูเด็กในระยะเวลาสั้นๆ หรือในระยะยาว

ทั้งนี้ มักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับครอบครัวอุปถัมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแปลคำดังกล่าวเป็นภาษาไทย เช่นมีการเรียกสถานสงเคราะห์เด็กบางแห่งว่าเป็นครอบครัวอุปถัมภ์

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งในประเทศไทย ที่ส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก โดยครอบครัวอุปถัมภ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกรอบการทำงาน หรือระบบที่ใช้ในระดับประเทศเพื่อกำกับดูแลกระบวนการครอบครัวอุปถัมภ์ ปัจจุบัน กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Care for Children ในการพัฒนา และวางระบบครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กที่อาศัยอยู่ในสถานรองรับของภาครัฐ และมีพันธกิจในการเพิ่มจำนวนเด็กเหล่านี้ให้เข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างพัฒนามาตรฐานระดับประเทศสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้การเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวนี้ เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับเด็ก ที่อาจถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์

การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อมีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่าเด็กมีผู้ปกครองตามกฎหมายแล้ว จึงไม่นับว่าเป็นการเลี้ยงดูทดแทนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เด็กรอผู้รับไปเป็นบุตรบุญธรรมนั้น แน่นอนว่าเด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูทดแทนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ประเทศไทยมีศูนย์รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเป็นทางการ 5 ศูนย์ โดยสามารถรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมได้ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

คลิกที่นี่เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศไทย

สถานรองรับเด็ก

สถานรองรับเด็กของภาครัฐในประเทศไทย

สถานรับเลี้ยงเด็กเหล่านี้ดำเนินการภายใต้กำกับดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัจจุบันมีสถานรองรับเด็กของภาครัฐในประเทศไทยจำนวน 30 แห่ง ส่วนมากเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กขนาดใหญ่ มีเด็กอยู่ในความดูแลเกินกว่า 100 คน บางแห่งรับเฉพาะเด็กชาย หรือเด็กหญิง และบางแห่งรับทั้งเด็กชายและหญิง

สถานรองรับเด็กของภาครัฐเกือบทุกแห่งในประเทศไทยต้องจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ทำให้สามารถระดมทุนได้เอง และมีอิสระในการดำเนินกิจการของตนเอง

รูปแบบการบริหารจัดการสถานรับเลี้ยงเด็กแต่ละแห่งแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น สถานรับเลี้ยงเด็กบางแห่งอาจระบุไว้ในเว็บไซต์ของตนว่ารับอาสาสมัครเข้าทำงาน โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบความเป็นมาของอาสาสมัคร ในขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็กบางแห่งมีความระมัดระวัง และกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการรับอาสาสมัครเข้าทำงาน

สถานสงเคราะห์เด็กเอกชนจดทะเบียน

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดให้บุคคลที่จะดำเนินการสถานรองรับเด็กจำนวนตั้งแต่หกคนขึ้นไป (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเป็นญาติกับเด็ก) มีหน้าที่ขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดนั้นๆ เพื่อดำเนินการเป็นสถานรองรับเด็ก

ในเอกสารรายงานวิจัย “สถานการณ์การเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย”Review of Alternative Care in Thailand” โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ในปี 2558 ได้อ้างอิง ข้อมูล สถานสงเคราะห์ที่จดทะเบียนแล้วในประเทศไทย ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่ามีจำนวน 137 แห่ง

จากนั้นได้ทราบว่า ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ประสานงานไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ ให้สำรวจและรายงานสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนในแต่ละจังหวัด เพื่อรวบรวมและเป็นฐานข้อมูลปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจำนวนสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่จริงจะมากกว่าที่ปรากฏในรายงานอย่างมีนัยสำคัญ

 

สถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ยังมิไม่ได้จดทะเบียน

เป็นสถานสงเคราะห์เด็ก ที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และยังไม่ได้จดทะเบียนกับภาครัฐ สถานสงเคราะห์เด็กบางแห่งได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การจดทะเบียนในตัวองค์กรดังกล่าว ยังมิได้คลอบคลุมไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ที่รับเด็กมาเลี้ยงดูตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนเป็นสถานรองรับ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวมีความผิดต้องโทษปรับหรือโทษจำคุก

รายงานการศึกษาของมูลนิธิวันสกาย ระบุว่ามีสถานรองรับเด็กเอกชนที่ยังมิได้จดทะเบียนอย่างน้อย 240 แห่ง โดยรวบรวมจากการค้นคว้าออนไลน์ และสอบทานกับฐานข้อมูลสถานรองรับเด็กเอกชนที่จดทะเบียนแล้วของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ มูลนิธิวันสกายคาดว่ายอดรวมของสถานรองรับเด็กเอกชนที่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยอาจจะมีมากกว่า 600 แห่ง

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จัดประเภทสถานรองรับเด็ก เป็นประเภทต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถานที่นั้นๆ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ฉบับเต็ม ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้ที่นี่

โรงเรียนประจำของรัฐ

ประเทศไทย มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถอยู่บ้านได้ โดยเฉพาะเด็กชั้นมัธยมที่ต้องกิน-นอนประจำในโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลจากบ้าน

สำหรับนักเรียนในโรงเรียนประจำของรัฐนั้น พ่อแม่ยังถือเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของเด็ก เพราะยังคงมีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับเด็ก ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเด็กในโรงเรียนประจำเหล่านี้อยู่ในการเลี้ยงดูทดแทน

โรงเรียนประจำของเอกชน

โรงเรียนประจำเอกชนยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย เด็กในโรงเรียนประจำเหล่านี้ต้องอยู่และกินนอนในสภาพไม่ต่างจากกับบ้านพักเด็กหรือสถานสงเคราะห์ โดยเด็กส่วนใหญ่กล่าวว่าไม่ได้กลับบ้านหรือได้พบกับพ่อแม่เป็นเวลาหลายปีแล้ว

ทั้งนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกระทรวงศึกษาธิการควรร่วมมือกันเพื่อขึ้นทะเบียนและกำกับดูแลโรงเรียนประจำของเอกชนเหล่านี้ และตรวจสอบการดำเนินการที่แอบแฝงในรูปของโรงเรียนประจำเหล่านี้

ท่านรู้จักสถานสงเคราะห์เด็กที่ยังมิได้จดทะเบียนบ้างหรือไม่

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย

Pin It on Pinterest

Share This