แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานสงเคราะห์เด็ก

เด็กจะดีที่สุดเมื่อได้อยู่กับครอบครัวของตน

 

คู่มือ “Moving Forward, Implementing the Guidelines” เป็นคู่มือที่องค์กรภาคประชาสังคมและองค์การยูนิเซฟจัดทำขึ้น เพื่อช่วยให้บุคลากรที่ทำงานด้านเด็ก เข้าใจแนวทางปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ของสหประชาชาติ และวิธีการนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติให้เป็นผล

แนวทางปฏิบัตินี้จัดทำขึ้น โดยพิจารณาหลักการสำคัญ 2 ประการ คือความจำเป็น และความเหมาะสม

หลักความจำเป็น

หลักแห่งความจำเป็น หมายถึง เด็กควรถูกแยกจากครอบครัว ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น และมีการดำเนินการในทุกทางที่เป็นไปได้ เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุ ทำให้เด็กอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกแยกจากครอบครัว

หากการแยกเด็กเป็นมาตรการที่จำเป็น ควรเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัว เช่น การใช้ระบบครอบครัวเครือญาติ หรือครอบครัวอุปถัมภ์นั้น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเลี้ยงดูในรูปแบบสถาบัน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานสงเคราะห์ เนื่องจากในรูปแบบดังกล่าว เด็กจำนวนมากต้องแข่งขันกันเพื่อได้รับความรับความเอาใจใส่จากผู้ดูแลเด็ก ที่ปฏิบัติหน้าที่เพราะได้รับเงินค่าจ้าง ซึ่งต่างจากความรักและความเอาใจใส่ที่เด็กได้รับจากครอบครัวของตนเอง

หลักความเหมาะสม

หลักแห่งความเหมาะสม หมายถึง เมื่อได้ตัดสินใจว่าการแยกเด็กเป็นเรื่องจำเป็น ควรให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน

การป้องกันมิให้เด็กเข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทนโดยไม่จำเป็น ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งในแนวทางปฏิบัตินี้  โดยผู้ทำหน้าที่คัดกรองนี้ คือ ผู้ตัดสินใจว่า การแยกเด็กออกจากผู้ปกครองหลักเป็นมาตรการที่จำเป็นหรือไม่ และการเลี้ยงดูทดแทนรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ของเด็กนั้นมากที่สุด แนวปฏิบัติฯนี้ เสนอแนะให้ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติหรือได้รับการอบรมที่เหมาะสม และได้รับใบอนุญาตจากรัฐ นอกจากนี้ ยังต้องมีความเป็นอิสระจากสถานรับเลี้ยงเด็ก ไม่ว่าในลักษณะใดที่จะรับเด็กไป

จุดเริ่มต้นที่ดี คือ การเชื่อว่าครอบครัวเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของชุมชน และสังคมที่ดี

เด็กๆจะเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของตนเอง รวมถึงครอบครัวเครือญาติและครอบครัวอุปถัมภ์

หากท่านเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นความจริง แสดงว่าเราต่างคิดเห็นตรงกัน

หากท่านเห็นว่าข้อมูลในเว็บไซต์นี้น่าสนใจ และต้องการพูดคุยเพิ่มเติม โปรดติดต่อเรา เรายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้ความช่วยเหลือท่านอย่างเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เด็กๆในประเทศไทยได้เติบโตในครอบครัวที่มีความรักความเอาใจใส่มากขึ้น

ท่านรู้จักสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ไหนในประเทศไทย หรือไม่

อินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาถึง 6 ปี ในการติดตามและขึ้นทะเบียนสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนมากกว่า 9,500 แห่ง และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ทำการสำรวจสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆนับพันคนให้สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวของตน

หากแต่ภาครัฐของประเทศไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) ยังไม่มีพันธกิจในการติดตามเพื่อจดแจ้ง หรือขึ้นทะเบียนสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทุกแห่งที่อยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวมีความสำคัญเพื่อให้สามารถปฏิบัติตาม “แนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก” และเพื่อให้เกิดการติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กของสถาบันเหล่านี้ สิ่งแรกที่รัฐบาลไทยจะต้องทราบก่อน คือ มีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนอยู่กี่แห่ง ที่ไหนบ้าง

จากการทำงานของทีมงานอาสาสมัครร่วมกันกับมูลนิธิวันสกาย สืบค้นข้อมูลออนไลน์ พบว่า มีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ยังไม่จดทะเบียนอย่างน้อย 240 แห่ง เราต้องการใช้เว็บไซต์นี้ในการช่วยสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์เด็ก เพื่อส่งต่อให้แก่รัฐบาลไทยในทันทีที่ฐานข้อมูลแล้วเสร็จ

ผู้ประกอบการสถานสงเคราะห์เด็กบางแห่ง อาจแจ้งกับผู้บริจาคหรือแหล่งทุนว่า ได้รับการจดทะเบียนแล้ว แต่ระเบียบข้อบังคับกฎหมายในประเทศไทย การจดทะเบียนองค์กรเอกชนหรือมูลนิธินั้น มิได้หมายความว่า สามารถดำเนินการสถานสงเคราะห์เด็กได้ทันที แต่จะต้องขอจดทะเบียนจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อติดตามและตรวจสอบมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กในสถานรองรับเด็กที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ 

ท่านสามารถช่วยเราได้ ด้วยการแจ้งข้อมูลสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนในประเทศไทยที่ท่านรู้จัก-พบเห็น เพื่อเราจะได้ตรวจสอบว่าสถานเลี้ยงดูเด็กที่ท่านแจ้งมานั้นอยู่ในฐานข้อมูลเราแล้วหรือไม่ จากนั้นเราจะตรวจสอบจากภาครัฐ ว่าสถานรองรับเด็กดังกล่าวนั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ ความช่วยเหลือของท่านจะช่วยเร่งรัดให้เกิดความปลอดภัย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถานรองรับเด็กเอกชน ที่ยังขาดมาตรฐานความปลอดภัยและการดำเนินงาน อยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

แหล่งข้อมูลสำหรับผู้ดำเนินการสถานรองรับเด็ก

 

FAMILIES, NOT ORPHANAGES

รายงานฉบับนี้ให้ความสนใจประเทศที่มีรายได้น้อย โดยศึกษาความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของเด็ก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตลอดจนผลกระทบในระยะยาวจากการเลี้ยงดูเด็กในสถานรองรับ หลักฐานต่างๆ ที่นำเสนอในรายงานฉบับนี้ระบุว่า บ้านเด็กกำพร้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง คนพลัดถิ่น โรคเอดส์ และอัตราความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น หรือหลายปัญหาเหล่านี้เกิดร่วมกัน รายงานฉบับนี้ศึกษาจากหลักฐานที่มี ถึงเหตุผลที่เด็กถูกส่งเข้าสถานรองรับ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบการเลี้ยงดูแบบอื่นๆ รายงานนี้แสดงข้อสรุปเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปพิจารณา

CHILDREN IN INSTITUTIONS, THE RISKS

การเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบสถาบันนั้นมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันในหลายประเทศทั่วโลก เช่น บ้านเด็กกำพร้า สถานสงเคราะห์เด็ก และบ้านเด็กอ่อน เป็นต้น ซึ่งเด็กๆที่ได้รับการเลี้ยงดูในรูปแบบสถานบันเหล่านี้ จะมีความเสี่ยงด้านพัฒนาการทางสมอง และเพิ่มโอกาสที่เด็กจะถูกทอดทิ้ง ล่วงละเมิด และแสวงหาประโยชน์ ตลอดจนความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อชีวิต เอกสารของ Lumos ฉบับนี้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งความเสียหายที่อาจเกิดจากสถานรองรับเด็ก รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหา

หากท่านพบเห็นหรือทราบข่าวเด็กตกอยู่ในภาวะอันตราย

โปรดติดต่อ

1300

ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนคุ้มครองเด็ก

1387

มูลนิธิสายเด็กแห่งประเทศไทย

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย

Pin It on Pinterest

Share This