กฎหมายและประวัติความเป็นมา
การดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิเด็กมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467
แนวทางดำเนินการที่ผ่านมามีผลต่อทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิเด็ก อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อกฎหมายปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับสิทธิเด็กในประเทศไทย
สาเหตุที่เราเชื่อว่าแนวทางด้านสิทธิเด็กเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะสามารถทำงานร่วมกับเด็ก และทำงานเพื่อเด็กได้
ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ 195 ประเทศได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทำให้ประเทศเหล่านั้นมีพันธกิจในการพัฒนากฎหมายและระบบการดูแลเด็กเพื่อให้ได้รับสิทธิในด้านต่างๆ อย่างสมบูรณ์ และเพื่อเป็นไปตามมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กตามที่กำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
หลายประเทศยังมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการอีกหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนากฎหมาย การสร้างระบบ และการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลเด็ก นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จยังขึ้นอยู่กับการนำกฎหมายและระบบต่างๆ ไปใช้ให้เกิดผล และมีการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
บางประเทศ เช่น ประเทศไทย สามารถพัฒนากฎหมายด้านการคุ้มครองเด็กในบางแง่มุมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีช่องว่างที่เกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติและชาวไทยโดยยังไม่มีการกำกับดูแลที่ดี เมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ จะเปิดช่องให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนทำงานกับเด็กตามแนวทางที่ตนเห็นว่า “ดี” แล้ว
ผลการสำรวจชาวต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านเด็กในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานมีความหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นลักษณะแปลกประหลาด ดีอย่างยอดเยี่ยม และที่เป็นอันตราย
สิทธิเด็กในประเทศไทย
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2489 และได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฉบับปี พ.ศ. 2532 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายหลักที่มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิเด็กในประเทศไทย ท่านสามารถ ดาวน์โหลดพระราชบัญญัติฉบับเต็มได้ที่นี่
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นไว้ใช้ ณ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560
- มาตร 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว
- มาตรา 71 รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะใช้บังคับมาแล้วเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เกิดผลสมบูรณ์และมีความเท่าเทียมกันทั่วประเทศไทย
ประเทศไทยมีกลไกการคุ้มครองเด็กมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และยังมีในเขตปกครองพิเศษ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 – มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูทดแทน
มาตรา 82
ผู้ใดจัดตั้งหรือดำเนินกิจการสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟูตามมาตรา 52 โดยมิได้รับใบอนุญาตหรือใบอนุญาตถูกเพิกถอนหรือหมดอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่งได้ยื่นคำขออนุญาตหรือยื่นคำขอต่อใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด การดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลนั้นให้เป็นอันระงับไป
มาตรา 83
เจ้าของหรือผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟูผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่งได้ดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24 แล้ว การดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลนั้นให้เป็นอันระงับไป
มาตรา 84
ผู้ใดกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูโดยมิได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมวด 6: มาตรา 51-62
สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู
มาตรา 51 ปลัดกระทรวงมีอำนาจจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู ได้ทั่วราชอาณาจักร และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูภายในเขตจังหวัดนั้น
หน่วยงานอื่นของรัฐนอกจากที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้อาจจัดตั้งและดำเนินกิจการได้เฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยแจ้งให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีทราบ และให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแนะนำหรือสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินการดังกล่าว
มาตรา 52 ภายใต้บังคับของมาตรา 51 ผู้ใดจะจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู ต้องขอรับใบอนุญาตต่อปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี
การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การให้ต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด การออกใบแทนใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 53 ให้ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด กำกับดูแลและส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
มาตรา 54 ในสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูจะต้องไม่ดำเนินกิจการในลักษณะแสวงหากำไรในทางธุรกิจ และต้องมีผู้ปกครองสวัสดิภาพเป็นผู้ปกครองดูแลและบังคับบัญชา
การดำเนินงานของสถานที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ปลัดกระทรวงกำหนด
มาตรา 55 ให้ปลัดกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 56 ผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับตัวเด็กที่จำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพไว้เพื่อสืบเสาะและพินิจเด็กและครอบครัว วินิจฉัยกำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กแต่ละคน ถ้าจำเป็นอาจรับตัวเด็กไว้ปกครองดูแลชั่วคราวได้ไม่เกินสามเดือน
(2) สืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และฐานะของเด็กที่จำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพรวมทั้งของผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับเด็ก และมูลเหตุที่ทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(3) จัดให้มีการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมทั้งดำเนินการรักษาเยียวยาแก่เด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล
(4) จัดที่พักอาศัย ที่หลับนอน เครื่องนุ่งห่ม ให้เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ และจัดอาหารให้ถูกอนามัยและเพียงพอแก่เด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล
(5) จัดการศึกษา การกีฬา และนันทนาการให้แก่เด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลให้เหมาะสมกับวัยและสภาพของเด็กแต่ละคน
(6) จัดส่งเด็กที่ได้ดำเนินการตาม (1) และ (2) ไปยังสถานสงเคราะห์ สถานพัฒนาและฟื้นฟู โรงเรียน หรือสถานที่อื่นใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์ หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กให้เหมาะสมกับวัยและสภาพของเด็กแต่ละคน
(7) มอบตัวเด็กแก่ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เหมาะสมและยินยอมรับเด็กไว้อุปการะเลี้ยงดูและถ้าเห็นสมควรอาจยื่นคำขอให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี แต่งตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กตามมาตรา 48
(8) ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง ในกรณีที่เด็กจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ
ผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับต้องดำเนินการให้เด็กสามารถกลับไปอยู่กับผู้ปกครองก่อน ส่วนการจัดให้เด็กไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ให้ดำเนินการเป็นวิธีสุดท้าย
มาตรา 57 ผู้รับใบอนุญาตและผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นต้องควบคุมดูแลให้มีการรับเด็กที่จำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพทุกคนไว้อุปการะเลี้ยงดู
มาตรา 58 ผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานสงเคราะห์มีอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา 56 (1) (2) (3) และ (4) และให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) จัดการศึกษา อบรม สั่งสอน และฝึกหัดอาชีพแก่เด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของสถานสงเคราะห์ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
(2) จัดบริการแนะแนว ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง
(3) สอดส่องและติดตามให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแก่เด็กที่ออกจากสถานสงเคราะห์ไปแล้ว เพื่อเป็นการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กที่เคยอยู่ในสถานสงเคราะห์มิให้กลับไปสู่สภาพเดิม
การสืบเสาะและพินิจตามมาตรา 56 (2) ถ้าเป็นกรณีที่เด็กถูกส่งมาจากสถานแรกรับซึ่งมีรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว อาจงดการสืบเสาะและพินิจก็ได้
มาตรา 59 ผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานคุ้มครองสวัสดิภาพมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ปกครองดูแลและอุปการะเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ
(2) จัดการศึกษา อบรม และฝึกอาชีพแก่เด็กที่อยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ
(3) แก้ไขความประพฤติ บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกายจิตใจแก่เด็กที่อยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ
(4) สอดส่องและติดตามให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแก่เด็กที่ออกจากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพไปแล้ว
มาตรา 60 ผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานพัฒนาและฟื้นฟูมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับเด็กที่จำต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายหรือจิตใจไว้ปกครองดูแล
(2) ทำการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูเด็กแต่ละคน
(3) จัดการศึกษา ฝึกอบรม สั่งสอน บำบัดรักษา แนะแนว และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้เหมาะสมแก่เด็กแต่ละคนที่อยู่ระหว่างการปกครองดูแล
มาตรา 61 ห้ามมิให้เจ้าของ ผู้ปกครองสวัสดิภาพ และผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ กักขัง ทอดทิ้ง หรือลงโทษเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลโดยวิธีการรุนแรงประการอื่น เว้นแต่กระทำเท่าที่สมควรเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 62 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ปกครองสวัสดิภาพเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ความเป็นมาเกี่ยวกับสิทธิเด็ก
Eglantyne Jebb (พ.ศ. 2419 – 2471) หรือที่รู้จักกันในนาม White Flame นั้นเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษที่เริ่มตั้งกองทุนที่ชื่อว่า Save the Children Fund ในปีพ.ศ. 2462 เพื่อช่วยเหลือให้อาหารเด็กอดอยากในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย
ในปีพ.ศ. 2467 Eglantyne ไม่เพียงแต่ได้ร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ยังดำเนินการให้สมาชิกสันนิบาตชาติลงนามในเมืองเจนีวาเพื่อรับเอาปฏิญญาดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติด้วย
ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
- เด็กต้องได้รับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถพัฒนาได้ตามปกติ ทั้งที่เป็นปัจจัยด้านวัตถุและจิตใจ
- ในกรณีที่มีภาวะยากลำบาก เด็กต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก
- เด็กต้องอยู่ในสภาพที่สามารถดำรงชีพได้ และต้องได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ
- เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีความสำนึกว่าตนต้องทุ่มเทความสามารถของตนเพื่อช่วยเหลือมนุษย์อื่น
ปฏิญญาของ Eglantyne Jebb นี้ได้รับการรับรองโดยสมาชิกสันนิบาตชาติในปี พ.ศ. 2467
สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี พ.ศ. 2488 ต่อมาจึงเกิดองค์การสหประชาชาติขึ้นเพื่อทดแทนสมาชิกสันนิบาตชาติ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสันติภาพที่มีความถาวรให้เกิดขึ้นระหว่างชาติต่างๆ
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในวันที่ 16 ธันวาคมปี พ.ศ. 2489 ในปัจุบัน ในบรรดาประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนนั้น ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่มีประวัติความเป็นมากับสหประชาชาติยาวนานที่สุด โดยเข้าเป็นสมาชิกในปี พ.ศ. 2488
สหประชาชาติตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ดูแลและคุ้มครองเด็กเพิ่มเติม ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2502 จึงได้ปรับปรุงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กฉบับปี ค.ศ. 1924 ขึ้น
โดยหลักการที่สำคัญ 10 ข้อ ภายใต้ปฏิญญาสากลดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
ข้อ 1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม
ข้อ 2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน
ข้อ 3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติ แต่กำเนิด
ข้อ 4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้ว โดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็กๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย
ข้อ 5. เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ
ข้อ 6. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบคร้ว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่างๆ
ข้อ 7. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่วๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่นๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย
ข้อ 8. เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี
ข้อ 9. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใดๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาติเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง
ข้อ 10. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใดๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา “ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่างๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพลกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
คลิกที่นี่เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นมา
ปฏิญญาสากลดังกล่าวมีประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทั้งสิ้น 78 ประเทศร่วมลงนามในปีพ.ศ. 2502 แม้ว่าปฏิญญาสากลดังกล่าวยังขาดคำจำกัดความของคำว่า “เด็ก” ที่มีความชัดเจน แต่ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก สำหรับประเทศที่เป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนนั้น ประเทศบรูไน ประเทศสิงคโปร และประเทศเวียดนามยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อมีการลงนามปฏิญญาสากลฉบับปี ค.ศ. 1959
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนี้ สมัชชาใหญ่ตกลงรับและเปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ซึ่งวันเป็นครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 196 ประเทศ ยกเว้นสหรัฐอเมริกามีพันธกิจที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปี พ.ศ. 2532 แล้ว แต่สหรัฐอเมริกายังไม่สามารถให้สัตยาบันอนุสัญญา (เพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของอนุสัญญา) ดังกล่าวได้ เหตุผลเพราะแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกามีอำนาจในการปกครองตัวเอง ทำให้ทุกรัฐจะต้องตกลงที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญา แต่กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกายังเห็นว่าแนวคิดที่กำหนดให้เด็กมีสิทธิส่วนบุคคลเหนือขอบเขตของพ่อแม่นั้นเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาว่าทุกประเทศมีความคืบหน้าในการนำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผลสมบูรณ์ โดยแต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้ช้าเร็วแตกต่างกัน แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมิได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่โดยทั่วไปแล้วมาตรฐานด้านการเลี้ยงดูเด็กของสหรัฐอเมริกาจะสูงกว่าการให้บริการดูแลเด็กของทั้ง 196 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ในทุกรูปแบบ
ในปี พ.ศ. 2534 มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ โดยประกอบด้วยสมาชิก 18 ประเทศ ที่ได้รับการลงคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี รัฐภาคี 195 รัฐที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้นต้องจัดทำงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการนำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไปใช้ปฏิบัติให้เป็นผล
คณะกรรมการสิทธิเด็กนี้มีหน้าที่ให้คำแนะนำ และให้การส่งเสริมชาติต่างๆ ตลอดจนเสนอแนะให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือจัดทำพิธีสารเพิ่มเติมสำหรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในกรณีที่พบว่าอนุสัญญาดังกล่าวยังมีช่องว่าง
ประเทศไทยโดย นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์เป็นสมาชิกคณะกรรมการสิทธิเด็กระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2555
ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิเด็ก ปัญหาเด็กถูกแยกจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้น “เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและร้ายแรง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการสิทธิเด็กพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
- เด็กจำนวนมากที่เข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทน ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจนของครอบครัว
- เด็กได้รับการดูแลภายใต้เงื่อนไขต่างๆ
- เด็กที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ที่ตามปกติควรจะได้รับจากพ่อแม่นั้นเป็นเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง และยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญอย่างเพียงพอ
มีช่องว่างอย่างมากระหว่างเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูทดแทน หรือเด็กที่มีความเสี่ยงต้องเข้ารับการเลี้ยงดูทดแทน ในปี พ.ศ. 2547 คณะกรรมการสิทธิเด็กให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก
รัฐบาลในทุกประเทศยอมรับแนวปฏิบัติฯ ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2552 แม้ว่าแนวทางปฏิบัตินี้จะไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย แต่ก็มีการใช้ปฏิบัติเพื่อติดตามตรวจสอบรายงานความคืบหน้าที่ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กทั้ง 195 ประเทศ ได้จัดทำเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 คณะกรรมการสิทธิเด็กได้จัดทำคู่มือ “Moving Forward, Implementing the Guidelines for the Alternative Care of Children” ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าใจหลักการที่สำคัญของแนวทางปฏิบัติฯ และยังแสดงตัวอย่างวิธีการที่บางประเทศนำหลักการที่สำคัญดังกล่าวนั้นไปใช้ปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ
“ประเทศสมาชิกต่างตระหนักรับรู้มากขึ้นว่าจำเป็นต้องลงมือทำ หลายประเทศได้เริ่มปรับปรุงกฎหมายให้เข้มแข็งและได้นำยุทธศาสตร์ปฏิรูปการดูแลเด็กที่เน้นการป้องกันเด็กเข้า และการนำเด็กออกจากสถานสงเคราะห์เด็ก รวมถึงการนำเด็กที่พลัดพรากจากครอบครัวให้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกไปใช้ แต่เรายังต้องทำมากกว่านี้ รายงาน [ของเลขาธิการด้านสิทธิเด็ก] ได้เรียกร้องให้เลิกนำเด็กเข้าไปเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยง หันไปลงทุนเพิ่มเติมกับการคุ้มครองและสวัสดิการเด็ก, การจัดบริการทางสังคม และการดูแลเด็กโดยครอบครัวในชุมชน และปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลและรายงานเพื่อให้ทราบเป้าหมายที่แท้จริงซึ่งเราต้องทุ่มเท”
Charlotte Petri Gornitzka (ชาร์ล็อตต์ เพทรี กอร์นิตซ์กา) รองผู้อำนวยการกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) คณะกรรมาธิการลำดับที่สามของวาระการประชุมครั้งที่ 74 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2019 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้มีมติรับรองเห็นชอบในญัตติสิทธิเด็ก ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นของเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่บุพการี และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สมัชชาใหญ่ (UNGA) ได้เรียกร้องให้ชาติสมาชิกทั้ง 193 ประเทศดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กที่ขาดการดูแลจากบุพการี รวมถึงเด็กที่อยู่ในการเลี้ยงดูทดแทน ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และแนวปฏิบัติสากลอื่นๆ เช่น แนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ในมตินี้ สมัชชาใหญ่ได้กำหนดเป็นพิเศษว่า:
สรุปมติว่าด้วยสิทธิเด็ก มุ่งเน้นเรื่องเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูจากบุพการี
- แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ถึงอันตรายอันอาจเกิดขึ้นของสถานสงเคราะห์เด็กและจากการเลี้ยงดูเด็กเชิงสถาบัน ที่มีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก กระตุ้นเร่งรัดให้ชาติสมาชิกดำเนินการเปลี่ยนแปลง โดยใช้การเลี้ยงดูทดแทนรูปแบบอื่นที่มีคุณภาพกว่า รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากร แก่ครอบครัวและชุมชนในการดูแลเด็ก
- เร่งรัดให้ชาติสมาชิกยอมรับและบังคับให้ใช้ กฎหมาย นโยบาย บริการ และโครงการ รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการกับปัญหารากเหง้า ของเด็กที่ถูกแยกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น และประกันว่าเด็กจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีประสิทธิภาพโดยครอบครัวและชุมชนของตน โดยผ่านระบบการคุ้มครองทางสังคม และตระหนักถึงความเสมอภาคและความละเอียดอ่อนทางเพศที่แตกต่าง การให้เงินสด การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา และการสาธารณสุขที่เด็กเข้าถึงได้
- เรียกร้องให้ชาติสมาชิกส่งเสริมนโยบายที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พัฒนาโครงการที่ช่วยขจัดความยากจน และออกแบบเพื่อเสริมสร้างความสามารถของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรของตน ให้ต่อสู้กับความยากจนในครอบครัวและการแบ่งแยก-กีดกันทางสังคม
- ยืนยันว่าความพยายามทั้งหมดนี้ ควรเป็นไปเพื่อช่วยให้เด็กสามารถกลับคืนสู่การเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือสมาชิกครอบครัวที่เด็กใกล้ชิดและมีความเหมาะสมโดยเร็ว หากในกรณีที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูทดแทนครอบครัว ควรส่งเสริมการเลี้ยงดูโดยใช้รูปแบบครอบครัวเป็นฐาน ภายในชุมชนเอง ก่อนการส่งไปยังสถานสงเคราะห์เด็ก
- เร่งรัดให้ชาติสมาชิกเสริมความเข้มแข็งให้แก่ สวัสดิการเด็กและระบบการคุ้มครองเด็ก เพิ่มความพยายามในการปฏิรูประบบการดูแลเด็ก รวมถึงพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ประสานงานอย่างแข็งขันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงระบบการทำงานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
- เรียกร้องให้ชาติสมาชิกเสริมสร้างระบบ-ระเบียบ ในเรื่องกระบวนการ “คัดกรอง” ที่เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่า การเลี้ยงดูทดแทนจะถูกนำมาใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และต้องใช้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีการขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาต รวมทั้งมีกลไกการกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อรับรองคุณภาพของการเลี้ยงดูทดแทน และมีการทบทวนรูปแบบการเลี้ยงดูทดแทนนั้นๆของเด็กอย่างสม่ำเสมอ
- เร่งรัดให้ชาติสมาชิกให้หลักประกันว่าจะมีทางเลือกของการเลี้ยงดูทดแทนที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) และนำแนวปฏิบัติไปปรับใช้ จัดลำดับความสำคัญแก่การเลี้ยงดูทดแทนอื่นๆที่มีคุณภาพ มาก่อนการเลี้ยงดูเด็กเชิงสถาบัน รวมถึงการนำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปมาปรับใช้
- เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาการเก็บข้อมูล การจัดการข้อมูล และระบบการรายงาน ที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูจากบุพการี ในทุกรูปแบบ และทุกสถานการณ์ เพื่อร้อยเรียงข้อมูล และพัฒนาเป็นฐานข้อมูลระดับประเทศและระดับโลก
- ตอกย้ำความรับผิดชอบของประเทศสมาชิก ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กที่อยู่ในการเลี้ยงดูทดแทน รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดและความรุนแรงทุกรูปแบบ ในทุกสถานการณ์ของการเลี้ยงดูทดแทน
- เรียกร้องให้ชาติสมาชิกใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการหาผลประโยชน์จากเด็กในสถานรองรับเด็ก และใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันและระบุภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการอาสาสมัครในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า รวมถึงในบริบทของการท่องเที่ยวในสถานรองรับเด็กเหล่านี้
- มตินี้ยังมีเนื้อหาสำคัญที่ส่งเสริมพันธกิจสากลในประเด็นเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านของการเลี้ยงดูเด็ก โดย UNGA จะ:
- ยืนยันว่าชาติสมาชิกต้องรับรองว่าเด็กที่พิการจะมีสิทธิเท่าเทียมในชีวิตครอบครัว รวมถึงการให้ข้อมูล จัดบริการ และการสนับสนุนแต่เนิ่นๆให้แก่เด็กกลุ่มดังกล่าวเพื่อป้องกันการปกปิด การทอดทิ้ง การละเลย การเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยก โดยใช้ทุกความพยายาม ทันทีที่ครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กที่มีภาวะความพิการได้ เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูทดแทนอย่างมีคุณภาพ ในครอบครัวเครือญาติก่อน หรือหากเป็นไปไม่ได้ ให้เด็กยังอยู่ในชุมชนเดิมที่ครอบครัวตั้งอยู่
- เรียกร้องให้ชาติสมาชิกรับรองว่าเด็กวัยรุ่นที่พ้นจากการเลี้ยงดูทดแทน ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ในการเตรียมตัวเปลี่ยนไปใช้ชีวิตอิสระตามลำพัง รวมถึงการเข้าถึงการจ้างงาน การศึกษา การฝึกอบรม สถานที่อยู่อาศัย และการสนับสนุนทางจิตใจ
- ตอกย้ำถึงความสำคัญของการฝึกอบรมอย่างเพียงพอและเป็นระบบ สำหรับนักวิชาชีพทุกสาขาวิชาและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเด็ก รวมทั้งเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูจากบุพการี
- เน้นย้ำความจำเป็นพิเศษในการร่วมมือและประสานงานของสหวิชาชีพ ทั้งในระดับผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณะสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกการตัดสินใจ ข้อริเริ่มและแนวทางทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูจากบุพการี ได้ดำเนินการเป็นรายกรณีๆไป ผ่านทางกระบวนการทางศาล ทางฝ่ายปกครอง หรือทางกระบวนการอื่นที่เพียงพอ ซึ่งกระทำโดยนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
- เรียกร้องให้ชาติสมาชิกใช้มาตรการพิเศษเพื่อตอบสนองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัว ในบริบทมนุษยธรรม รวมถึงการให้ลำดับความสำคัญแก่การติดตามสืบเสาะครอบครัว การกลับมาอยู่ร่วมกัน และการคืนเด็กสู่ครอบครัว
- ยืนยันว่าเด็กที่อยู่เพียงลำพังและและเด็กที่ถูกพลัดพราก ควรได้รับการคุ้มครองในทุกขั้นตอนของการย้ายถิ่น ผ่านองค์กรหรือกระบวนการพิเศษในการระบุตัวตน การส่งต่อ การดูแล และการคืนสู่ครอบครัว และเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเขาจะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และความช่วยเหลือทางกฎหมาย
- เป็นประวัติการณ์ ที่องค์พันธมิตรกว่า 255 แห่ง จากเครือข่ายและหน่วยงานที่ทำงานทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกตลอดทั่วทุกภูมิภาคได้มารวมกันใน 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาและสนับสนุนชุดข้อแนะนำที่สำคัญนี้ ความเคลื่อนไหวระดับโลกนี้สะท้อนถึงความจริงว่า การปฏิรูประบบดูแลและคุ้มครองเด็กกำลังเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก ได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริจาค และผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรศาสนาและองค์กรสิทธิผู้พิการ ข้อแนะนำมากมายที่กลุ่มแนวร่วมนี้เสนอ ได้สะท้อนอยู่ในเนื้อหาของมติที่เห็นชอบในวันนี้ แต่บางส่วนถูกตัดทอนไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งรวมถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของเด็กและครอบครัว ไม่เพียงแต่การตัดสินใจในแต่ละวันที่จะกระทบต่อตัวพวกเขาเองรายบุคคล แต่ยังหมายถึงการให้ข้อมูล การประเมินผลการปฏิรูประบบและการดำเนินการเพื่อสนับสนุนพวกเขาให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้น
- ในขณะที่เรายินดีในการเห็นชอบมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ เรายังตระหนักรู้ว่างานนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และจุดสนใจของเรากำลังเปลี่ยนไปสู่การดำเนินการตามพันธกิจสำคัญเหล่านี้ ผ่านความร่วมมือ ความสัมพันธ์และพันธะสัญญาที่เพิ่มขึ้นทุกระดับ ในการมีส่วนร่วม เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างสรรค์ร่วมกัน ว่าระบบการดูแลและคุ้มครองเด็กดีกว่า จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า